การชมลูกน้อง (การให้ฟีดแบคเชิงบวก)

การชมลูกน้อง

 

ในการทำงาน หัวหน้าที่เก่งจะสามารถพัฒนาทีมงานให้มีความสามารถมากขึ้นด้วยการสื่อสาร 2 แบบค่ะ คือ 

  1. การชม เมื่อลูกน้องทำในสิ่งที่ดี หรือมีพฤติกรรมที่ดี เช่น ลูกน้องเสนอวิธีการในการแก้ปัญหา ลูกน้องมีความรับผิดชอบ ช่วยติดตามงานเร่งด่วนจนเสร็จแม้จะนอกเวลางานแล้ว เป็นต้น 
  2. การให้ฟีดแบคเพื่อการพัฒนา เมื่อลูกน้องทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสม

วันนี้ อ.ก้อย ขอแชร์เรื่องของการชมก่อนนะคะ เนื่องจากเป็นสิ่งที่หัวหน้าส่วนใหญ่ทำน้อยมาก ทั้งๆ ที่สำคัญมาก เรามาดูกันค่ะว่าในทางจิตวิทยาแล้วการชมนั้นสำคัญอย่างไร 

     การชมเป็นการสื่อสารที่เสมือนอาหารเลี้ยงใจที่ช่วยให้ลูกน้องรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า และได้รับการยอมรับ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องดีขึ้น

     การชมช่วยให้ลูกน้องทำในสิ่งที่ชมเพิ่มขึ้น และกระตือรือร้นในการทำงาน การชมช่วยให้ลูกน้องรู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นดี ให้ทำต่อไป และเมื่อลูกน้องได้รับคำชมในเรื่องใด เขาจะอยากทำสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติค่ะ เมื่อเราสื่อสารด้วยการชมลูกน้องในสิ่งดีๆ ที่เขาทำเสมอๆ เขาจะกระตือรือร้นในการทำงาน อยากทำงานด้วยตนเอง ไม่ต้องรอคำสั่ง และมีความคิดริเริ่มในการทำสิ่งใหม่ๆ ด้วยค่ะ 

     การชมช่วยให้ลูกน้องเปิดใจที่จะรับฟีดแบคในสิ่งที่ต้องปรับปรุงได้มากขึ้น ในการทำงาน ลูกน้องคงไม่ได้เก่งทุกเรื่อง หรือทำถูกต้องทุกเรื่อง การให้ฟีดแบคเพื่อการพัฒนาจะช่วยให้ลูกน้องรู้ว่าตรงไหนที่ควรปรับปรุง หากหัวหน้ามีการชมในสิ่งที่ดีเป็นระยะๆ เมื่อบอกฟีดแบคให้ลูกน้องปรับปรุงตรงไหน เขาจะเปิดใจรับฟีดแบคได้ง่ายกว่า แต่หากไม่เคยชมเลย แล้วมีแต่บอกจุดที่ควรปรับปรุงก็อาจทำให้ลูกน้องท้อใจได้ค่ะ ว่าทำงานได้ไม่ดี มีแต่จุดที่ทำพลาด ทำให้ลูกน้องอยากลาออก เพราะรู้สึกว่าอยู่ไปก็ไร้ค่า ทำดีก็ไม่เคยมีใครมองเห็นเรา เห็นแต่ความผิดพลาด ซึ่งจริงๆ แล้วลูกน้องมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่ แต่ด้วยการสื่อสารที่ไม่เหมาะสม ทำให้เขานำศักยภาพที่มีมาใช้ได้ไม่เต็มที่ค่ะ

 

อ่านถึงตรงนี้แล้วท่านผู้อ่านที่เป็นหัวหน้างานลองถามตัวเองดูนะคะ ว่าเราได้ชมลูกน้องครั้งสุดท้ายเมื่อไร และเราชมเขาบ่อยขนาดไหน ถ้าท่านชมอยู่แล้ว ก็ดีใจกับทีมงานท่านด้วยว่าช่างโชคดีที่มีหัวหน้าที่มองเห็นความดีในตัวเขาค่ะ แต่ถ้าท่านชมน้อยหรือแทบไม่ได้ชมเลย ไม่เป็นไรนะคะ เราฝึกฝนกันได้ค่ะ 

 

แล้วเราจะชมอย่างไร ถึงจะเหมาะสม เรามาเรียนรู้เทคนิคในการชมกันค่ะ

  • ชมทันทีที่เห็นลูกน้องทำสิ่งที่ดี
  • ชมอย่างจริงใจ จากใจ ไม่เสแสร้ง
  • ชมอย่างเฉพาะเจาะจง ชมคุณสมบัติดีๆ ในตัวลูกน้อง และพฤติกรรม/การกระทำที่ดี เช่น พี่ขอชมเราที่เสียสละ (คุณสมบัติดีๆ) กลับบ้านดึกเมื่อคืน เพื่อแก้ปัญหาในไลน์การผลิต (การกระทำที่ดี) ทำให้ส่งงานลูกค้าได้ทันตามกำหนด
  • ชมได้แม้เรื่องเล็กๆ หากรอให้มีเรื่องที่ยิ่งใหญ่ก่อนแล้วค่อยชม ลูกน้องอาจจะห่อเหี่ยวไปก่อนค่ะ 
  • สร้างวัฒนธรรมในการชื่นชม จะช่วยให้พนักงานในองค์กรรู้สึกดีกับหัวหน้า มีความกระตือรือร้นในการทำงานค่ะ และทำให้ทีมงานมองเห็นข้อดีของกันและกัน และสนับสนุนช่วยเหลือกัน 
  • หาโอกาสชมให้ทีมงานได้รับรู้ในที่ประชุม เพื่อให้ทีมงานท่านอื่นๆ ได้รับรู้และเห็นว่าทำดีมีคนเห็น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทีมงานอยากที่จะทำดีเพิ่ม และคนที่ได้รับคำชมจะรู้สึกว่าทุกคนเห็นคุณค่าในตัวเขา ก็จะยิ่งทำให้เขานำศักยภาพมาใช้อย่างเต็มที่ค่ะ 

 

อ่านแล้วนำไปฝึกฝนในการชมดูนะคะ ทุกวันนี้ก้อยเองก็เอาเรื่องนี้มาใช้ แม้กระทั่งกับคนในครอบครัวค่ะ ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น และเขาก็ช่วยเหลือเรามากขึ้นด้วยค่ะ

ครั้งหน้าจะมาเล่าเรื่องการให้ฟีดแบคอย่างสร้างสรรค์นะคะ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขในการทำงานและการใช้ชีวิตนะคะ

อ.ก้อย

อาจารย์ เภสัชกรหญิง ธันยพร จารุไพศาล (อ.ก้อย)

โค้ชและวิทยากรด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

(Performance coach and trainer)

 

E-mail: tunyaponj@gmail.com

line ID: koytunyapon

Tel: 082-415-1462 (โทรกลับเฉพาะเบอร์มือถือนะคะ)

Visitors: 77,542