เทคนิคการควบคุมอารมณ์

เทคนิคการควบคุมอารมณ์

     การควบคุมอารมณ์ก็เป็นหนึ่งในมิติที่สำคัญของการบริหารตนเอง ซึ่งส่งผลทั้งต่อผู้อื่นและตนเองค่ะ หากเราควบคุมอารมณ์ของเราได้ดีจะช่วยให้มีความสัมพันธ์กับผู้อื่น ทำงานร่วมกันได้ดี และสามารถจดจ่อกับงานจนงานสำเร็จได้ ในทางตรงข้ามหากควบคุมอารมณ์ได้น้อย จะทำให้แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อผู้อื่น เช่น พูดเสียงดังมากพร้อมกับสีหน้าที่ไม่พอใจ การวางของกระแทก เป็นต้น ทำให้ผู้อื่นไม่อยากทำงานด้วยและไม่อยากให้ความช่วยเหลือในการทำงาน และเมื่อควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ก็ทำให้ไม่สามารถจดจ่อกับงานได้อย่างเต็มที่ ทำให้งานล่าช้า หรือไม่มีคุณภาพค่ะ

     ลึกๆ แล้วทุกคนรู้ว่าเราไม่ควรทำอะไรด้วยอารมณ์ แต่อารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แล้วเราจะทำอย่างไร จึงจะควบคุมอารมณ์ในด้านลบให้ดีขึ้น บทความนี้จะมาให้คำตอบในเรื่องนี้ค่ะ 

 

เทคนิคการควบคุมอารมณ์


• สังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย 

เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ร่างกาย เช่น เมื่อโกรธ ใบหน้าจะร้อนขึ้น หัวใจจะเต้นรัวขึ้น เมื่อตื่นเต้น มือจะเหงื่อออก หัวใจเต้นรัวๆ เป็นต้น

• ให้ชื่ออารมณ์ 

ถามตัวเองว่าอาการแสดงออกทางกายนี้บ่งบอกถึงอารมณ์อะไร

• การกลับมาอยู่กับลมหายใจ และยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้น

กลับมาอยู่กับปัจจุบันด้วยการอยู่กับลมหายใจเข้าออก หรือหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ และค่อยๆ ยอมรับอารมณ์ที่เกิดขึ้น ว่าเป็นปกติของมนุษย์เราที่มีอารมณ์ และอารมณ์นี้เดี๋ยวก็ผ่านไป

• ปรับเปลี่ยนมุมมอง

มองหาด้านดีของสถานการณ์นี้ หรือมองในมุมของคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าใจเขา เช่น สถานการณ์คือนำเสนองานเจ้านาย แล้วเจ้านายให้กลับไปแก้ไขเพิ่ม ด้านดีของสถานการณ์นี้ คือ ทำให้เราได้เรียนรู้เพิ่มเติม และฝึกนิสัยของการคิดให้รอบคอบ หรือต่อยอดเพิ่มขึ้น มองในมุมมองของเจ้านาย เช่น เจ้านายคงเห็นว่าจากประสบการณ์ที่มี ควรจะปรับเพิ่มเติม หรือแก้ไข แล้วผลลัพธ์จะดีกว่า เป็นต้น

• การเปลี่ยนสภาพแวดล้อม

หากเราอารมณ์นั้นรุนแรงมาก เกินกว่าจะจัดการได้ แนะนำให้ออกจากสภาพแวดล้อมนั้น เช่น รู้สึกโกรธมาก และถ้าพูดต่อจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงได้ แนะนำให้ออกจากสถานที่นั้น เช่น ขอตัวไปห้องน้ำก่อน หรือ เศร้าเสียใจอย่างรุนแรงจากการสูญเสียคนที่เรารัก ให้จัดบ้าน ตกแต่งบ้าน เพื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อม เป็นต้น

• ฝึกสติ

การฝึกสติเป็นประจำและสม่ำเสมอ จะช่วยให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง และสามารถเบรคตัวเองทัน หากสติเราน้อย เราจะแค่รู้ว่ามีอารมณ์เกิดขึ้น แต่กำลังในการเบรคตัวเองไม่มากพอค่ะ

• ออกกำลังกาย/เปลี่ยนท่าทาง

ร่างกายกับจิตใจมีความสัมพันธ์กันค่ะ เช่น คนที่ซึมเศร้า มักจะเอาแต่นอน ไม่ขยับตัวไปไหน หากมีการขยับร่างกายมากขึ้น ก็จะช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้น หรือคนที่มีความเครียด หากไปออกกำลังกายเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยลดความเครียด และการออกกำลังกายยังทำให้สมองหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขด้วยค่ะ

• ช่วยเหลือผู้อื่น

หากเรารู้สึกท้อแท้ หมดหวัง การได้ทำอะไรเพื่อผู้อื่น เช่น ทำงานจิตอาสา การอุดหนุนซื้อของจากคนที่ขายของตามท้องถนน จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น รู้สึกว่าเรามีคุณค่ามากขึ้นและมีความสุขจากการได้ช่วยเหลือผู้อื่นค่ะ


     จากเทคนิคต่างๆ ที่แบ่งปันนี้ อ่านแล้ว ลองนำไปปรับใช้ดูนะคะ การควบคุมอารมณ์นี้ต้องฝึกฝนด้วยตัวเอง ไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากเราค่ะ เป็นกำลังใจให้กับการพัฒนาเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นในทุกๆ วันนะคะ

     อ.ก้อย


หลักสูตรในองค์กร (in-house training) ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ 

อาจารย์ เภสัชกรหญิง ธันยพร จารุไพศาล (อ.ก้อย)

โค้ชและวิทยากรด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

(Performance coach and trainer)

E-mail: tunyaponj@gmail.com

line ID: koytunyapon

Tel: 082-415-1462 

Visitors: 77,541