การให้ฟีดแบคอย่างสร้างสรรค์แบบโค้ช
การให้ฟีดแบคอย่างสร้างสรรค์
วันนี้จะมาแบ่งปันเรื่องการให้ฟีดแบคอย่างสร้างสรรค์ค่ะ ให้ฟีดแบคอย่างไรเป็นการให้ฟีดแบคอย่างสร้างสรรค์ ที่คนรับฟีดแบคไม่รู้สึกว่าถูกตำหนิ และเขาอยากพัฒนาหรืออยากปรับปรุงในสิ่งที่เราให้ฟีดแบค
การให้ฟีดแบคควรทำเมื่อไร
- เมื่อเราเห็นทีมงานเราทำพฤติกรรมบางอย่างที่อยากให้พัฒนา หรือยังทำได้ไม่ตรงตามเกณฑ์หรือที่ควรจะเป็น
- หลังทีมงานทำพฤติกรรมดังกล่าวไม่นาน เช่น ภายใน 1-2 วัน ถ้านานเกิน เช่น หลายสัปดาห์ คนรับฟีดแบคอาจจำไม่ได้แล้วว่าเคยทำพฤติกรรมนั้น หากปัจจุบันไม่ได้ทำพฤติกรรมนั้นแล้ว
การให้ฟีดแบคอย่างสร้างสรรค์นั้นสำคัญอย่างไร
ช่วยให้ผู้รับฟีดแบครู้ว่าตนเองควรพัฒนาในจุดไหน ซึ่งคนรับฟีดแบคอาจไม่เคยรู้มาก่อน หรือรู้แต่ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญ หรืออาจไม่รู้ว่าควรปรับให้ดีขึ้นอย่างไร หากมีคนช่วยให้ฟีดแบคก็จะเสมือนมีกระจกที่ช่วยสะท้อนให้ผู้รับฟีดแบคเห็นตนเองชัดขึ้น พัฒนาตนเอง และเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น ถ้าการให้ฟีดแบคมีประโยชน์ ทำไมเราถึงไม่ทำกันนะ หรือถ้าทำ ทำไมไม่เห็นจะเวิร์คตามที่ตั้งใจล่ะ
ปัญหาของคนให้ฟีดแบค คือ
- ไม่รู้จะพูดยังไงดี กลัวพูดแล้วแรงไป ทำให้พูดไม่ตรงประเด็น หรือไม่กระชับ ทำให้คนรับฟีดแบคไม่เข้าใจความต้องการของคนให้ฟีดแบค คนรับฟีดแบคจึงไม่เปลี่ยนแปลงหลังรับฟีดแบค
- มีแต่พูดถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะ แต่ไม่ได้ให้คำแนะนำในการปรับปรุง และหากคนรับฟีดแบคไม่รู้วิธีการว่าจะปรับอย่างไร เขาก็จะไม่ปรับเปลี่ยนเช่นกันค่ะ
- ให้ฟีดแบคตอนที่หงุดหงิด หรือมีอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ ทำให้คนรับฟีดแบครู้สึกว่าถูกต่อว่าอยู่ ทำให้คนรับฟีดแบคไม่เปิดใจรับฟัง
เราจะเริ่มให้ฟีดแบคอย่างสร้างสรรค์อย่างไร
- เริ่มให้จากใจที่ปรารถนาดีก่อน คนเรามักทำสิ่งต่างๆ อย่างดีที่สุดเท่าที่มีความรู้ ความสามารถ และจากประสบการณ์ที่มี หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น หรือเขาทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อยากชวนคิดเผื่อว่าเขาอาจไม่ตั้งใจ ไม่รู้ผลกระทบหรือความสำคัญของเรื่องนั้นๆ หรือเขาอาจทำไม่เป็น ไม่เข้าใจในสิ่งที่เราสอนก็ได้ (หากเราสอนแบบ one way บอกอย่างเดียว ให้เขาได้มีส่วนร่วมในการสื่อสารน้อย) จึงชวนให้เริ่มต้นด้วยใจของเราที่อยากช่วยให้ผู้รับฟีดแบคเก่งขึ้น มีความสามารถมากขึ้น ทำงานได้ดีขึ้นก่อน หรือใจที่ปรารถนาดีนั่นเองค่ะ
- เตรียมคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ในเรื่องนั้นๆ ในการให้ฟีดแบคควรมีคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจงที่คนรับฟีดแบคสามารถนำไปปรับปรุงได้ทันที เช่น หากจะให้ฟีดแบคให้ลูกน้องปรับปรุงงาน ไม่ทำงานผิดพลาด ต้องให้เขารู้ว่าที่ผิดพลาดคือตรงจุดไหน และที่ถูกคือเป็นอย่างไร มิฉะนั้นเขาจะไม่รู้ว่าต้องแก้ไขอย่างไร หรือแก้ไม่ครบ
- ใช้ทักษะการให้ฟีดแบคอย่างสร้างสรรค์แบบโค้ช คือ ใช้คำถามร่วมด้วยกับการบอก เพื่อเข้าใจผู้รับฟีดแบคได้เปิดโอกาสแชร์มุมมองของเขา และเกิด commitment จากการตอบของตนเอง
การให้ฟีดแบคอย่างสร้างสรรค์แบบโค้ช
- S Situation บอกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
- I Impact บอกผลกระทบที่เกิดขึ้น
- O Open ถามผู้รับฟีดแบคว่า ได้ยินแล้วคิดอย่างไร หรือ พอจะเล่าให้พี่ฟังได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น / เกิดจากอะไร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้รับฟีดแบคได้เล่าสาเหตุ และถามผู้รับฟีดแบคว่า จะแก้ไข หรือป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอย่างไร เพื่อให้ผู้รับฟีดแบคแชร์ไอเดียของเขาที่เขาอยากปรับปรุงด้วยตนเอง
- S Solution ผู้ให้ฟีดแบคอาจบอกเสริมวิธีการที่อยากแนะนำ และชวนผู้รับฟีดแบคแชร์ว่าคิดว่าอย่างไร เพื่อเปิดโอกาสให้เขาแชร์ว่าเขาอยากทำวิธีนี้ไหม เหมาะกับเขา หรือเขาทำได้ไหม เป็นต้น
- S Summarize ให้ผู้รับฟีดแบคสรุปสิ่งที่จะไปปรับให้ดีขึ้น
ตัวอย่างการให้ฟีดแบคอย่างสร้างสรรค์แบบโค้ช
ผู้ให้ฟีดแบค ชื่อ พี่ A เป็นผู้จัดการร้านขายของแห่งหนึ่ง
ผู้รับฟีดแบค คือ น้อง B เป็นพนักงานขายในร้านนั้น
พี่ A : พี่เห็นน้อง B เข้างานสาย 3 วันติดกันแล้วในสัปดาห์นี้ ทำให้เพื่อนอีกคนต้องเปิดร้านคนเดียว และดูแลลูกค้าไม่ทัน กระทบกับยอดขายร้าน พอจะเล่าให้พี่ฟังได้ไหมว่าอะไรทำให้เรามาสายขึ้น
น้อง B : พอดีช่วงนี้แฟนหนูไม่ได้ไปส่งลูก หนูต้องไปส่งลูกเองเลยมาสายค่ะ
พี่ A : พี่ชื่นชมในความรักและความรับผิดชอบในการดูแลลูกของเรานะ แล้วเราคิดว่าจะทำอย่างไร จึงจะมาทันเวลาเปิดร้าน ตามกะเข้างานของเรา
น้อง B : หนูคิดว่าหนูต้องปลุกลูกเช้าขึ้น และออกจากบ้านเช้าขึ้น 1 ช.ม. ค่ะ
พี่ A : พี่เห็นด้วยนะ หรืออยากขยับไปอยู่กะบ่าย จะได้มีเวลาไปส่งลูกช่วงเช้าก็บอกพี่ได้นะ
น้อง B : หนูว่าหนูอยู่กะเช้า ปลุกลูกเช้าขึ้นแล้วไปส่งเขาดีกว่าค่ะ แล้วถ้าหนูลองวิธีนี้แล้ว ลูกหนูงอแงมาก หนูค่อยขอพี่เข้าบ่ายแทนค่ะ
พี่ A : ดีเลยจ้ะ ลองดูนะ ติดขัดอะไรก็บอกพี่ได้ จะได้ช่วยกันทำให้ทั้งงานและครอบครัวราบรื่นจ้ะ
อ่านหลักการและเทคนิคในการให้ฟีดแบคอย่างสร้างสรรค์แล้วลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ สิ่งสำคัญ คือ ให้ด้วยใจที่ปรารถนาดี มีคำแนะนำที่เฉพาะเจาะจง และให้ผู้รับฟีดแบคมีส่วนร่วมในการสนทนา (หรือเราใช้คำถามร่วมด้วยนั่นเองค่ะ)
ขอให้ทุกท่านสนุกกับการเรียนรู้และการนำไปฝึกใช้นะคะ
อ.ก้อย
อาจารย์ เภสัชกรหญิง ธันยพร จารุไพศาล (อ.ก้อย)
โค้ชและวิทยากรด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
(Performance coach and trainer)
E-mail: tunyaponj@gmail.com
line ID: koytunyapon
Tel: 082-415-1462 (โทรกลับเฉพาะเบอร์มือถือนะคะ)
-
เทคนิคการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี (Building Rapport) การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีสำคัญอย่างไร โดยทั่วไปแล้ว หากเรารู้สึกดีกับใครแล้ว เราย่อมอยากช่วยเหลือหรือสนับสนุนเขา เช่นกันกับการที่...
-
การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ(Effective Communication) ในการทำงานนั้น การสื่อสารเป็นทักษะที่ใช้เป็นประจำไม่ว่าคุณจะอยู่ในบทบาทหัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หลายครั้งปัญหาต่างๆ เกิดข...
-
การฟังอย่างเข้าใจ (Empathic Listening) และประโยชน์ของการฟังอย่างเข้าใจ บทความนี้ ก้อยจะมาแบ่งปันเรื่องของการฟังอย่างเข้าใจอย่างง่ายๆ และประโยชน์ของการฟังอย่างเข้าใจ จากประสบการณ์ก...
-
ระดับของการฟัง และประโยชน์ของการฟัง ในชีวิตประจำวันของเรา เราเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟัง แล้วเราเป็นผู้ฟังที่ดีจริงๆ หรือเปล่า วันนี้เรามาทำความเข้าใจกับระดับของการฟังอย่างง่ายๆ กันค่...
-
6 เทคนิคการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) การฟังเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากของการสื่อสาร หากเราฟังได้อย่างลึกซึ้งจะช่วยให้เข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดอยากจะสื่ออย่างแท้จริง และทำให้ความสัมพ...
-
เทคนิคการสื่อสารเพื่อการทำงานแบบ Work From Home (WFH)ในช่วงที่ลดการทำงานที่ออฟฟิศ แล้วทำงานที่บ้าน หรือ work from home (WFH) มากขึ้น การสื่อสารระหว่างทีมงานเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพ...
-
อุปสรรคในการสื่อสาร การตัดสินตีความ การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นได้ หากเราสื่อสารกันอย่างเข้าใจ ทั้งเข้าใจในสารที่สื่อและเข้าใจในตัวบุคคลที่เราสื่อสารด้วย แล้วอะไรบ้างที่...
-
การชมลูกน้อง ในการทำงาน หัวหน้าที่เก่งจะสามารถพัฒนาทีมงานให้มีความสามารถมากขึ้นด้วยการสื่อสาร 2 แบบค่ะ คือ การชม เมื่อลูกน้องทำในสิ่งที่ดี หรือมีพฤติกรรมที่ดี เช่น ลูกน้องเสนอวิธ...
-
การให้ฟีดแบคอย่างสร้างสรรค์ด้วย STAR Model โดย ภญ.ธันยพร จารุไพศาล ช่วงที่ผ่านมา คำถามที่หัวหน้างานถามบ่อยเวลาที่ไปสอนหลักสูตรการสื่อสาร คือ “จะให้ฟีดแบคอย่างไรจึงจะทำให้ผู้รับฟีด...