คุณสมบัติหัวหน้าที่ลูกน้องรักและทำงานให้เต็มที่

 คุณสมบัติหัวหน้าที่ลูกน้องรักและทำงานให้เต็มที่

 

เมื่อไม่นานมานี้ ก้อยได้ทบทวนชีวิตตนเองที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ๆ เราเป็นลูกน้อง พอทำงานมาสักระยะก็ขึ้นเป็นหัวหน้า และทบทวนถึงหัวหน้าที่เรามีในชีวิต ตั้งแต่ระดับตำแหน่งเล็กๆ จนระดับใหญ่สุดของบริษัททั้งบริษัทในไทยและบริษัทข้ามชาติของหลายๆ แห่ง ได้ข้อสรุปว่าหัวหน้าแบบไหนที่เรา เพื่อนๆ และลูกน้องเราทุ่มเทใจให้ ยินดีที่จะทำงานให้เต็มที่ เต็มศักยภาพ ทำให้มากกว่าที่หัวหน้าบอก และอาสาทำเพิ่มหรือเสนอไอเดียต่างๆ เพิ่มเติมอีกด้วยค่ะ

 
หัวหน้าที่ดีมีลักษณะดังนี้
 
1. เชื่อใจลูกน้องและมองเห็นศักยภาพ
   เมื่อหัวหน้ามองว่าลูกน้องมีศักยภาพและเชื่อใจลูกน้อง ทำให้ลูกน้องทำงานได้อย่างอิสระ และสามารถนำความคิดสร้างสรรค์ของตนมาสร้างผลงานได้อย่างเต็มที่ แต่หากหัวหน้าไม่เห็นศักยภาพ หัวหน้าก็จะไม่ไว้ใจ คอยสั่งตามที่ตัวเองต้องการและไม่ให้ลูกน้องได้มีโอกาสนำเสนอความคิดเห็น 

 
2. พูดแล้วรักษาสัจจะ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
   เราคงเคยได้ยินว่าคำพูดเป็นนายเรา เมื่อพูดออกไปแล้ว ให้เราทำตามสิ่งที่เราพูด ถ้ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนไปจากที่พูด นานๆ เปลี่ยนคงไม่เป็นไร แต่หากเปลี่ยนบ่อยๆ ลูกน้องจะขาดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อหัวหน้า และกังวลว่าทำไปเดี๋ยวหัวหน้าก็เปลี่ยนใจ ให้แก้ใหม่อีก ทำให้ลูกน้องขาดความกระตือรือร้นในการทำงานได้ค่ะ
 
3. มีความเห็นอกเห็นใจและใส่ใจผู้อื่น
   หากลูกน้องประสบปัญหาชีวิต เช่น สูญเสียคนที่เป็นที่รัก หรือคนที่เขารักป่วย หรือเขาป่วย หากหัวหน้าไม่เคยถามไถ่ด้วยความใส่ใจ เช่น เป็นอย่างไรบ้าง รู้สึกอย่างไร อยากให้พี่ช่วยอะไรบ้าง เป็นต้น แล้วเข้ามาคุยแต่เรื่องงาน ก็อาจทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าหัวหน้าไม่ใส่ใจเขาในฐานะคนๆ หนึ่ง ลูกน้องก็จะหมดใจที่จะทำงานให้ค่ะ
 
4. กล้าตัดสินใจ
   บางกรณีลูกน้องเข้ามาของคำแนะนำหรือให้หัวหน้าตัดสินใจ หากหัวหน้าตัดสินใจไม่ได้ ก็จะทำให้ลูกน้องไม่สามารถทำงานต่อได้ งานไม่คืบหน้า ลูกน้องก็จะเริ่มท้อใจและเบื่อว่างานไม่คืบหน้าและงานไม่สำเร็จเสียที
 
5. มองภาพใหญ่ ไม่ micro-manage
   หัวหน้าที่ดีควรมีความสามารถในการมองภาพใหญ่กว่าลูกน้อง เห็นว่าสิ่งที่ทำส่งผลดีอย่างไรต่อภาพรวม และมองเห็นโอกาสในการทำสิ่งนั้นๆ ให้ใหญ่ขึ้น และไม่ micro-manage เกินไป จนลูกน้องต้องเอามาให้ดูทีละขั้นตอน แล้วพอเจ้านาย approve แล้วค่อยทำต่อ เพราะถ้า micro-manage เกินไป ลูกน้องจะอึดอัดและทำงานไม่เสร็จเสียที ลูกน้องจะ burn out (หมดแรงกายแรงใจ) ได้ค่ะ
 
6. ให้โอกาสลูกน้องได้ทำงานที่ท้าทายขึ้น
   ทำให้ลูกน้องได้พัฒนาความสามารถและทักษะเพิ่มขึ้น แทนที่จะทำแต่งานเดิมซ้ำๆ จนเบื่อ
 
7. มีจริยธรรม ไม่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก
   โดยพื้นฐานแล้วคนเราเกิดมา เรารู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี หากหัวหน้าไม่มีจริยธรรม ลูกน้องก็จะรู้สึกอึดอัด ยิ่งถ้าลูกน้องให้คุณค่ากับเรื่องจริยธรรม และไม่อยากทำในสิ่งไม่ถูกต้อง ก็จะทำให้มีความขัดแย้งระหว่างกันได้ หรือหากลูกน้องทำทั้งๆ ที่ในใจไม่อยากทำ ก็จะรู้สึกอึดอัด
 
8. ให้โอกาสให้ลูกน้องได้เติบโต
   หัวหน้าที่สนับสนุนให้ลูกน้องเติบโต เช่น ส่งไปอบรมเพิ่ม ส่งเสริม/สนับสนุนให้เรียนเพิ่ม มอบหมายงานที่ท้าทาย/โปรเจ็คใหม่ หรือโปรโมทเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม จะทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าหัวหน้าหวังดีกับเขาจริงๆ เขาก็จะอยากทำงานให้ดีเลิศ เพื่อตอบแทนความปรารถนาดีของหัวหน้า
 
9. ชื่นชมและให้กำลังใจลูกน้อง
   หากลูกน้องทำงานได้ดี/ตามที่ต้องการ การขอบคุณเขาหรือการชมในความตั้งใจของเขา ก็เป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจให้อยากทำงานเพิ่มขึ้น และหากลูกน้องทำงานผิดพลาด/เจอปัญหา อุปสรรค ก็ให้คำแนะนำและกำลังใจให้เขาเดินหน้าต่อไปได้ เขาจะรู้สึกว่ามีคนที่ support เขาอยู่
 
10. ให้เครดิตลูกน้อง
   ในการนำเสนอผลงานให้คนอื่นรับทราบ ก็ควรให้เครดิตและขอบคุณน้องๆ ในทีมต่อหน้าคนอื่นๆ ด้วยใจ ให้รู้ว่าทุกคนมีส่วนร่วมในผลงานที่ดีนี้ เพราะหัวหน้าไม่สามารถทำงานทุกอย่างเองได้ และลูกน้องก็รับรู้ได้ว่าหัวหน้าให้เกียรติเรา เห็นคุณค่าของเรา


อ่านแล้วลองไปปรับใช้ดูนะคะ เราสามารถฝึกให้มีคุณสมบัติดีๆ นี้ ไม่ว่าจะมีบทบาทเป็นหัวหน้าหรือไม่ค่ะ เพราะคุณสมบัติเหล่านี้ ถ้าเรามี ใครๆ ก็รักและอยากช่วยเหลือสนับสนุนค่ะ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาตนเองนะคะ อ.ก้อย เป็นกำลังใจให้ทุกท่านให้เติบโตอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จค่ะ

อาจารย์ เภสัชกรหญิง ธันยพร จารุไพศาล (อ.ก้อย)

โค้ชและวิทยากรด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

(Performance Coach and Trainer)


E-mail: tunyaponj@gmail.com

line ID: koytunyapon

Tel: 082-415-1462 

Visitors: 80,188